Course Management System หรือบางครั้งผมเรียกว่า Content Management System
ระบบการจัดการเนื้อหาหรือหลักสูตรต่างๆจะมีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่สนับสนุนการสร้างcomponentหรือองค์ประกอบที่จำเป็นพื้นฐานต่างๆที่เว็บไซท์แห่งหนึ่งควรจะมีโดยหากแบ่งตามหน้าที่การใช้งาน CMS จะมีอุปกรณ์ในการสร้างงานออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผลิตเนื้อหา กลุ่มทำการเชื่อมโยงและ กลุ่มสนับสนุนการปฏิสัมพันธ์โดยเน้นความสะดวกในผลิตนำเข้าผสมสื่อต่างๆรวมไปถึงความสะดวกในการเชื่อมโยงเนื้อหาจากส่วนหนึ่งไปยังอีกส่วนหนึ่งและคงไว้ซึ่งความสามารถในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้และผู้ดูแลเว็บ

Learning Management System ระบบการจัดการการเรียนรู้ หรือ Virtual Learning Environment (VLE)
อย่างที่ผมเคยกล่าวไปแล้วนะครับสิ่งที่ต่างคือ จุดมุ่งหมายของการใช้งานที่ให้ LMS มีรูปแบบการใช้งานที่สนับสนุนการทำกิจกรรมเพื่อการเรียนการสอนซึ่งจะยังมีอุปกรณ์ที่สนับสนุนการพัฒนาเว็บโดยแบ่งออกเป็นสามกลุ่มเช่นเดิมคือกลุ่มผลิตเนื้อหากลุ่มทำการเชื่อมโยงและกลุ่มสนับสนุนการปฏิสัมพันธ์โดยจะเพิ่มส่วนของการวัดผลประเมินผลมาช่วยเพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นซึ่งถ้าวิเคราะห์ในแง่ของLMSสิ่งที่ถูกมองเป็นสิ่งที่สำคัญคือความสามารถที่สนับสนุนการนำเสนอเนื้อหาแบบฝึกแบบทดสอบรวมไปถึงการวัดผลประเมินผลซึ่งจะต้องสนับสนุนยุทธศาสตร์การสอนในรูปแบบต่างๆสามารถติดตามประวัติการใช้งานของผู้เรียนได้และสนับสนุนการกระตุ้นติดตามจากผู้เรียนได้ซึ่งทั้งหมดนั้นมุ่งเน้นไปที่ความสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษานั่นเอง



ด้วยที่ความไม่เห็นความแตกต่างในเรื่องของระบบจึงขอจำแนกข้อดีและข้อจำกัดของCMSและLMSด้วยกันดังนี้ครับ
ข้อดี

- สนับสนุนการนำเสนอข้อมูลที่หลากหลายในเรื่องของรูปแบบสกุลทั้งแบบแสดงผลเลยหรืออนุญาตให้บันทึกลงเครื่อง
- ช่วยลดขั้นตอนในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อนำเข้าสมาชิกการเก็บข้อมูลผู้ใช้ในด้านต่างๆรวมไปถึงแสดงสถิติการใช้งาน
- มีเครื่องมือที่สนับสนุนการทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการสื่อสารนำเสนอข้อมูลในแบบต่างๆที่ผู้ดูแลเป็นเพียงผู้เลือกหยิบมาใช้เท่านั้น
- ช่วยลดขั้นตอนที่ต้องทำด้วยตนเองต่างๆในการบริหารสมาชิกเช่นการแจ้งเตือนการประกาศที่ส่งข้อความผ่านต่อไปยังไปรษณีย์อิเล็กทรอนิคส์
- การปรับเปลี่ยนแก้ไขพัฒนาหรือสร้างเอกสารขึ้นใหม่สามารถทำได้ที่ระบบเลยไม่ต้องพัฒนาจากระบบOfflineแล้วขึ้นผ่านFTPในภายหลังแต่ก็ยังสนับสนุนการนำแฟ้มชนิดอื่นเข้าไปแสดงผลในตัวระบบหลักด้วย
- ในด้านการสอนมีเครื่องมือที่สนับสนุนการเรียนการสอนที่หลายหลากเพิ่มเสริมสร้างความเข้าใจในเนื้อหาของผู้เรียนต่อเนื้อหาได้มากขึ้น
- ระบบมีความสามารถในการสนับสนุนการโอนถ่ายข้อมูลสำรองข้อมูลที่สะดวกต่อผู้ใช้งานและนำไปต่อยอดหรือใช้ต่อในระบบที่มีความสอดคล้องกันได้
- LMSส่วนใหญ่มีcommunityของกลุ่มผู้ใช้ที่จะช่วยแนะนำแก้ไขปัญหาจากการใช้งานรวมไปถึงการแจกจ่ายสื่อการสอนที่หลากหลายและสามารถนำไปเข้าสู่ระบบได้
- LMSส่วนใหญ่จะมีการพัฒนาเพื่อปรับแก้ข้อบกพร่องข้อจำกัดต่างๆเสมอทำให้ปัญหาในการใช้งานในรุ่นเก่าๆได้รับการแก้ไขเสมอ
ข้อจำกัด

- มีการดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลซึ่งถ้าฐานข้อมูลมีความบกพร่องในส่วนหนึ่งส่วนใดอาจทำให้ระบบล่มและไม่สามารถแสดงผลได้ต่างจากเอกสารhtmlที่จะมีความเอกเทศในการแสดงผลต่อหน้า
- การอนุญาตในการแทรกคำสั่งhtmlมีข้อจำกัดบางคำสั่งไม่แสดงผลเนื่องจากต้องทำการแสดงผลภายใต้โครงสร้างหลักของระบบ
- ความสามารถในการสร้างสื่อที่สวยงามหลากหลายยังต้องอาศัยผลิตภัณฑ์จากซอฟท์แวร์อื่นมาพัฒนาและอาจต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางลำพังผู้มีทักษะในการใช้งานอินเตอร์เน็ตไม่เพียงพอ
- ระบบCMSบางตัว(เช่นMoodle)ใช้ฐานข้อมูลในการเก็บข้อมูลเกือบทุกรูปแบบทำให้ฐานข้อมูลมีขนาดใหญ่การสำรองไฟล์จะทำให้มีขนาดใหญ่ไปด้วยและอาจส่งผลกระทบกับกระบวนการสำรองที่จะล้มเหลวได้ด้วย
- แม้LMSส่วนใหญ่จะมีการพัฒนาเพื่อปรับแก้ข้อบกพร่องข้อจำกัดต่างๆเสมอทำให้ปัญหาในการใช้งานในรุ่นเก่าๆได้รับการแก้ไขเสมอแต่ระบบCMSบางตัวเช่น(เช่นMoodle)มีการพัฒนาต่อเนื่องแต่พบว่าหลายครั้งแต่เวอร์ชั่นใหม่ไม่สนับสนุนการนำข้อมูลที่สำรองจากเวอร์ชั่นเก่ากว่ามาติดตั้งส่งผลให้ต้องพัฒนาเนื้อหาใหม่ในระบบCMSตัวใหม่แทน
วิเคราะห์เปรียบเทียบเว็บไซท์ที่สร้างโดย CMS และLMS ต่างๆกัน เชิงอภิปราย

JOOMLA!
คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าJoomlaเป็นเครื่องมือพัฒนาเว็บไซท์ที่ต้องนำเสนอข้อมูลจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพและง่ายต่อผู้ดูแลในการเข้าไปจัดการปรับแต่งแก้ไขเพราะมีรูปแบบที่อนุญาตการปรับแก้ไขโดยมีเครื่องมือให้ใช้งานเลือกใช้อย่างหลากหลายและตอบสนองความต้องการของผู้พัฒนาได้เป็นอย่างดีจากการศึกษาดูรูปแบบของเว็บไซท์ต่างๆที่ผลิตด้วยJoomla!ก็จะเห็นรูปแบบที่หลากหลายน่าสนใจและรูปแบบการนำเสนอข้อมูลที่หลากหลายแต่ก็จะสังเกตเห็นInterfaceที่เป็นComponentมาตรฐานที่จำเป็นต้องมีปรากฏให้เห็นทุกเว็บซึ่งเป็นเครื่องมือมาตรฐานของJoomla!ที่ได้จัดเตรียมไว้ให้เพื่อความสะดวกในการจัดสร้างข้อมูลหมวดต่างๆรวมไปถึงThemeหรือรูปแบบต่างๆที่จัดเตรียมไว้ให้ก็ช่วยลดขั้นตอนในการพัฒนาเนื้อหาเว็บไซท์ได้เป็นอย่างดีแต่สิ่งหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณาด้วยคือJoomlaถูกโจรกรรมฐานข้อมูลบ่อยและเป็นที่พูดถึงในกลุ่มผู้พัฒนาเว็บระดับหนึ่งเลยทีเดียว

Blackboard เป็น LMS ที่ผมมีความรู้ที่เกี่ยวข้องน้อยที่สุดเพราะเหตุผลสำคัญคือเป็น LMS ที่ถูกพัฒนาเพื่อการพาณิชย์และหน่วยงานผมไม่มีการซื้อมาใช้เพราะราคาค่อนข้างสูงแต่จากการเข้าไปชมข้อมูลต่างๆในเว็บไซท์ก็พอจะได้ข้อมูลมาบ้างน่าเสียดายที่ Blackboard ไม่มี Trial Stand Alone version ให้ผู้สนใจได้ทดลองใช้งานเพื่อประกอบการตัดสินใจในการซื้อแต่เข้าใจว่าทางบริษัทคงจะเน้นการขายไปในรูปแบบของการติดต่อกับหน่วยงานโดยตรงมากกว่าและใช้เว็บเพื่อการสนับสนุนข้อมูลต่างๆเท่านั้น

Ucompass
LMS ตัวนี้ผมมีโอกาสเข้าไปดูบ้างและพบว่ามีรูปแบบการนำเสนอที่ไม่แตกต่างจากมาตรฐาน LMS ที่มีอยู่ทั่วไปสนับสนุนทั้งในการเรียนการสอนการทำกิจกรรมต่างๆและเครื่องมือสนับสนุนปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนจากการที่เข้าไปชมที่เว็บของ ucompass ที่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พบว่าใช้หน้าเว็บเพจธรรมดากับ Flash engine เพื่อนำเสนอข้อมูลภาพตัวอย่างของ Ucommpas LMS แสดงให้เห็นถึงรูปแบบการวางเมนูไว้ทางซ้ายและพื้นที่สำหรับปฏิบัติการทางขวาระบบอนุญาตให้ผู้สอนสามารถปรับแต่งรูปแบบการสร้างเนื้อหาได้ แต่จากการได้ชมก็พบว่าจะมีการเปลี่ยนไปในรูปแบบของอักษรปุ่มภาพประกอบ แต่ตำแหน่งของชุดคำสั่งต่าง ๆ ก็จะยังเรียงด้านซ้ายคงเดิมสอดคล้องกับที่เคยอ้างไว้ก่อนหน้าว่าเป็นหน้าเพจที่สร้างจากตัวระบบจึงต้องคงรูปแบบไว้
เมื่อเข้าไปดูส่วนของ Educator พบว่ามีการเชิญให้ทดลองใช้โดยฝากเมล์ไว้ในระบบปรากฏว่าไม่ทำงาน(พยายามหาสาเหตุว่ามาจากเครื่องตนเองหรือเปล่า) จึงไม่สามารถเข้าไปทดลองใช้จริงๆได้ แต่ส่วนตัวดูจากตัวอย่างงานพบว่ามีขนาดการแสดงผลค่อนข้างเล็ก และมีข้อจำกัดในเรื่องของการกำหนดรูปแบบเช่นเดียวกับ LMS ตัวอื่นๆ

WebCTLMS
ผมได้ยิน WebCT มานานแล้วเกี่ยวกับการเป็น LMS ที่เป็นที่นิยมใช้มากตัวหนึ่งแต่ด้วยความที่ได้ทดลองMoodleเป็นตัวแรกจึงไม่ได้ไปทดลอง WebCT อีกเมื่ออาจารย์สั่งงานเลยเห็นว่าน่าจะเป็นโอกาสที่จะได้เข้าไปลองชมแต่เมื่อลองป้อนwww.webct.com ปรากฏว่าผมถูกพากลับไปยัง Blackboardนั่นน่าจะหมายความว่า WebCT ถูกควบรวมกิจการไปแล้วและรูปแบบการนำเสนอไปอยู่ในรูปแบบของ Blackboard หมดแล้วแม้จะตามไปขอดูเอกสารงานเก่าๆของ WebCT เช่นที่มหาวิทยาลัย McMaster ก็ยังถูกจำกัดการใช้งานจากระบบของ Blackboard ต่อจึงไม่ขอแสดงความเห็นส่วนนี้เพิ่มเติมนะครับ

Moodle.com LMS
ผู้พัฒนา Moodle เรียกตัวเองว่าเป็นCourse Management System(CMS)หรือ Virtual Learning Environment (VLE) แต่ปกติผมจะเข้าไปติดตามการอัพเกรดระบบที่ Moodle.org มากกว่าโดยที่Moodle.com นี้แสดงข้อมูลแบบหน้าเพจที่ให้ข้อมูลธรรมดาซึ่งเน้นไปที่การสนับสนุนการใช้งานแบบมีทีมงานบริการในเชิงพานิชย์มากกว่า แต่ถ้าถามถึงให้เปรียบเทียบ LMS ตัวนี้ผมก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปศึกษาเพิ่มเติมเพราะใช้อยู่ตลอด
ความแตกต่างเดียวที่ Moodle มีเมื่อเปรียบเทียบกับ LMS เชิงพานิชย์อื่นๆก็คือใช้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆถ้ามีจิตศัทธาจะบริจาคสนับสนุนการพัฒนาก็สามารถทำได้ผ่าน Paypal โดยชุมชน หรือ Community หลักของผู้ใช้ Moodle จะอยู่ที่ Moodle.org ซึ่งจะเป็นศูนย์หลักในการพัฒนา Moodle และ Module ใหม่ๆมาให้ผู้ใช้นำไปปรับใช้กับระบบของตนเองโดยที่นี่ยังมีพื้นที่ที่เจาะจงลงไปตามกลุ่มผู้ใช้งานในประเทศต่างๆซึ่งมีประเทศไทยด้วยภายใต้การดูแลพัฒนาให้Moodleรองรับภาษาไทยโดย ดร.วิมลลักษณ์ สิงหนาท โดยศักยภาพของ Moodle ยังคงถูกพัฒนาพร้อม ๆ กับการพัฒนาและเพิ่มเติมในส่วนของเครื่องมือ (Module) ต่างๆเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนอยู่เสมอ

สรุป
จากการเข้าชมสองกลุ่มหลักของระบบการจัดการทั้ง CMS และ LMS ผมไม่คิดว่ามีความแตกต่างในเรื่องการระบบและเครื่องมือสนับสนุนการสร้างการเชื่อมโยงและการปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมแต่ถ้าดูในแง่ของเพื่อการเรียนการสอนเครื่องมือที่สนับสนุนในเรื่องของการสร้างแบบฝึกแบบทดสอบแบบประเมินผลจะมุ่งเน้นการพัฒนาสื่อการสอนที่หลากหลายและมุ่งสนับสนุนกิจกรรมที่แตกต่างเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมสำหรับการสอนจริงๆ

ไม่มีความแตกต่างระหว่าง CMS/LMS/VLE ที่เป็นเชิงพาณิชย์กับที่พัฒนาออกมาให้ใช้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในด้านของความมุ่งหมายที่จะพัฒนาเครื่องมือที่สนับสนุนการสอนที่ง่ายต่อครูในการเตรียมการสอนการดำเนินกระบวนการสอนการประเมินผลและง่ายต่อผู้เรียนในการเข้าเรียนส่งงานและติดตามสอบถามกับผู้สอนแต่ความต่างที่ปรากฏ คือ ค่าใช้จ่ายและการสนับสนุนต่อเนื่องซึ่งกลุ่มพาณิชย์จะต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้สูงขึ้นตามความต้องการของผู้สอนและผู้เรียนแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบที่มีการพัฒนาเพื่อการพาณิชย์จะมีศักยภาพที่รองรับและนำเสนอได้อย่างมีเสถียรภาพกว่าระบบที่แจกจ่ายเพราะทีมผู้พัฒนาเชิงพาณิชย์จะมีทีมสนับสนุนทางด้านเทคนิคที่จะตรวจสอบระบบซ้ำแล้วซ้ำเล่าก่อนนำออกจำหน่ายและทีมพัฒนาเชิงพาณิชย์จะมีทีมสนับสนุนทางด้านเทคนิคแและ ี่พร้อมลงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆในขณะที่กลุ่มผู้ใช้ระบบที่พัฒนาและแจกจ่ายต้องอยู่รวมกันเป็นชุมชนเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันให้สามารถดำเนินการสอนโดยใช้CMS/LMS/VLEมาประกอบการสอนให้มีประสิทธิภาพได้นั่นเองครับ
นี่เป็นแนวคิดของผมจากการศึกษาครั้งนี้นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น